“ทุกสโมสรต้องมีรถบัสประจำทีมควบคุมนักกีฬาตลอด 24 ชั่วโมง ไปสนามต้องไปพร้อมกัน หากเป็นที่ไทยจะเดินทางไปเจอที่สนามกันเอง”
“ส่วนเรื่องของการเข้าพักที่โรงแรม จะให้นักกีฬานอนคนละห้อง เพื่อไม่ให้นักกีฬารบกวนกันเอง”
นักกีฬาไทยที่เคยทำหน้าที่ “อรอุมา สิทธิรักษ์” สมัยเล่นให้ “เจที มาร์เวลลัส” ศึกวี.ลีก ประเทศญี่ปุ่น ปี 2014-2017
2.วิทยาศาสตร์การกีฬา
กีฬายุคสมัยใหม่นอกจาก “พรสวรรค์-พรแสวง” สิ่งสำคัญที่ทำให้ประสบความเร็จคงหนีไม่พ้น “วิทยาศาสตร์การกีฬา”
“ไอซ์ วนัชศักดิ์” เล่าว่า ญี่ปุ่นทุกสโมสรจะมีนักโภชนาการอยู่ประจำทีม ดูแลและควบคุมอาหารของนักกีฬาทุกคนอย่างละเอียด ทั้งตอนฝึกซ้อมรวมถึงในช่วงระหว่างแข่งขัน เพื่อให้นักกีฬามีร่างกายที่แข็งแรงอยู่ตลอด เพราะการแข่งขันลีกญี่ปุ่นหนึ่งฤดูกาลมีระยะเวลาแข่งขันค่อนข้างนาน
เรื่องของการฝึกซ้อมก็เป็นส่วนสำคัญนอกจากซ้อมหนักแล้ว สภาพสนามยังดูดีทันสมัย อุปกรณ์ฝึกซ้อมมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เครื่องวัดความเร็วสำหรับการเสิร์ฟบอล, หุ่นยนต์สำหรับซ้อมการบล็อก
3.รู้เขารู้เรา
แฟนลูกยางอาจมองว่าหากนักกีฬาไปเล่นลีกญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นจะศึกษาการเล่นของนักตบไทย ทำให้อาจเสียเปรียบในยามที่ทีมชาติไทยต้องพบทีมชาติญี่ปุ่น แต่อีกมุมนักกีฬาของไทยก็จะได้เรียนรู้สไตล์การเล่นของนักกีฬาญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
“บุ๋มบิ๋ม” ชัชชุอร โมกศรี เผยว่า "แน่นอนค่ะ เขาต้องศึกษาการเล่นของเราอยู่แล้ว ศึกษาเราตั้งแต่เราเล่นทีมชาติแล้วค่ะ เขาถึงมั่นใจติดต่อให้เราไปเล่นในลีกบ้านเขา แต่สำหรับตัวหนูการที่ได้ไปเล่นลีกในญี่ปุ่นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ ด้วยความที่เราเคยเห็นทีมชาติญี่ปุ่นเล่น ซึ่งจุดเด่นก็คือความเหนียว แล้วเราก็อยากรู้ว่าเขาซ้อมกันยังไง เขาถึงเล่นได้ดี มันก็แบบศึกษาซึ่งกันและกัน เป็นผลดีของทั้งสองฝ่าย แต่ก็ขึ้นอยู่กับเราด้วยว่า เราจะศึกษาเรียนรู้มาได้เยอะแค่ไหน แต่หนูก็แอบเสียดายนะ ตอนปีที่หนูไปอ่ะ ก่อนหน้านั้นประมาน 3 เดือน คือหนูบาดเจ็บข้อเท้าพลิก แล้วก็ไปในช่วงแข่งเลย ก็เลยต้องเซฟร่างกายเตรียมแข่งอย่างเดียว แต่ถ้าได้ไปในช่วงซ้อมนะ หนูว่าอาจจะได้อะไรเยอะมากกว่านี้ ก่อนกลับยังคุยกับโค้ชอยู่เลยว่าหนูอยากพุ่งรับบอลสวยๆแบบนักกีฬาญี่ปุ่นบ้าง โค้ชเลยตอบกลับมาว่า น่าเสียดายเหมือนกันนะ ยังไม่ได้สอนเลย เห็นบีบีเจ็บข้อเท้าด้วยก็เลยเป็นห่วง"
4.ประสบการณ์
เชื่อว่าฝีมือของนักกีฬาไทยไม่ได้เป็นรองนักกีฬาญี่ปุ่น แต่หากนักกีฬาที่ได้ลงเล่นสม่ำเสมอก็จะช่วยสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเอง เพราะด้วยจำนวนสโมสรที่เยอะ ทีมหญิง 12 ทีม ทำให้มีแมตช์แข่งขันมาก อีกทั้งลีกญี่ปุ่นดึงผู้เล่นระดับโลกมาเล่นเสมอ ได้รับคำแนะนำประสบการณ์จากนักกีฬาระดับโลก
“ทิพย์” แก้วกัลยา กมุลทะลา เผยประสบการณ์ที่ได้รับว่า "ความแตกต่างคือความรับผิดชอบในตัวเอง ความมีระเบียบวินัย นักกีฬาญี่ปุ่นจะมีความรับผิดชอบในตัวเองสูงมากๆ จะมีการมาซ้อมกันเอง ทั้งก่อนซ้อมและหลังซ้อม ซ้อมเสริมในทักษะที่ตัวเองขาด หลังซ้อมเสร็จก็กลับไปดูวิดีโอที่ตัวเองซ้อมในแต่ละวัน ดูข้อดีข้อเสียของตัวเอง เขาดูทุกวันจริงๆ ค่ะ อีกอย่างคือเรื่องการกิน ถ้าช่วงที่แข่งขันนักกีฬาญี่ปุ่นจะงดอาหารพวกปลาดิบคือไม่กินเลย ของหวาน แอลกอฮอล์ กินน้อยมากค่ะ"
5.รายได้
เป็นเรื่องที่เปิดเผยมากไม่ได้นัก แต่ข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งข่าวน่าเชื่อถือเผยว่า หากเป็นระดับทีมชาติจรดปากกาเซ็นสัญญาแล้วจะมีรายได้เข้ามาเป็นจำนวน 7 หลัก แต่ อาจจะมากกว่า ขึ้นอยู่กับผลงานของนักกีฬาในช่วงเวลานั้น รวมถึงระยะเวลาในการเล่นที่ญี่ปุ่น หรือ อาจจะน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและผลงานที่ผ่านมา
6.ความเป็นอยู่
“ญี่ปุ่น” นับว่าเป็นประเทศยอดนิยมที่คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก นั่นเป็นเพราะหลายปัจจัย อาทิ อากาศ, สถานที่สวยงาม, อาหารอร่อย, แหล่งช็อปปิ้ง, การคมนาคมที่สะดวกตรงต่อเวลา ราคาไม่สูงมาก สิ่งเหล่านี้จะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจนักกีฬา ช่วยให้ผ่อนคลายยามที่ต้องเจอกับสภาวะความกดดันในการแข่งขัน และความเหน็ดเหนื่อยจากการซ้อม
การเดินทางที่ไม่ไกลมากนัก ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใกล้กับไทย ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 5 ชั่วโมง ทำให้ครอบครัวสามารถวางแผนเดินทางไปเยี่ยมให้หายคิดถึง หรือตัวนักกีฬาจะเดินทางกลับมาเติมพลังใจที่ไทยเองก็ได้
ก่อนที่สถานการณ์ของไวรัสโคโรนาจะระบาดทั่วโลก มีสโมสรจากญี่ปุ่นติดต่อนักกีฬาไทยเข้ามา แต่เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโคโรนาทำให้สภาวะเศรษฐกิจนั้นถดถอย
เชื่อว่าหากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงของไทยจะมีโอกาสได้ไปเล่นลีกอาชีพที่ประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 5 คน
ผู้เขียน : องค์ชายกระต่าย
กราฟิกปก : Taechita Vijitgrittapong
กราฟิกเนื้อหา : Theerapong Chaiyatep
September 03, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/3lIeK5N
6 เหตุผลที่นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงไทยควรไปเล่น "ลีกญี่ปุ่น" - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2BjZYQ5
Home To Blog
No comments:
Post a Comment