ความสำเร็จของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ครองความยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลากว่า 20 ปี นับตั้งแต่การคว้าแชมป์ซีเกมส์ เมื่อปี 1995
และด้วยความมุ่งมั่น และความหวังที่จะก้าวขึ้นไปเป็นทีมระดับท็อปของโลก ทีมสาวไทย ได้ส่งทีมเข้าร่วมแข่งในแมตช์ระดับโลกอย่าง เวิลด์กรังด์ปรีซ์ ในปี 2002
และหลังจากนั้น ทีมสาวไทย ก็ได้โลดแล่นอยู่ในเวทีวอลเลย์บอลระดับนานาชาติมาโดยตลอด
ขณะเดียวกัน เมื่อทีมหญิงก้าวไกลไปถึงระดับโลก และได้ลงเล่นในแมตช์นานาชาติอยู่อย่างสม่ำเสมอ คำถามที่เกิดขึ้นมาในหัว คือทำไมทีมชายของไทย ยังไม่ได้เข้าไปเล่นในแบบนั้นบ้าง
ในอดีตที่ผ่านมา วอลเลย์บอลชายทีมชาติไทย ได้โอกาสไปสัมผัสเกมระดับนานาชาติเพียงแค่ครั้งเดียว คือในวอลเลย์บอลชาย ชิงแชมป์โลก เมื่อปี 1998 ที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการผ่านรอบคัดเลือก เป็น 5 ทีมที่ดีที่สุดของเอเชีย
และนอกจากนั้น ทีมหนุ่มก็ยังไม่เคยได้ไปเข้าร่วมแข่งขันในรายการระดับโลกอีกเลย
จะมีก็เพียงแค่ โอลิมปิกเกมส์ 2008 รอบคัดเลือก ที่ญี่ปุ่น ที่มีโอกาสได้เจอทีมจากยุโรป และจากทวีปอื่น ๆ อยู่บ้าง
ส่วนอื่น ๆ นั้นไม่เคย
ซึ่งในประเภททีมชาย ในรายการระดับโลก ที่มีแข่งขันอยู่เป็นประจำ นั่นคือ วอลเลย์บอลเวิลด์ ลีก ที่คล้ายกับ เวิลด์กรังด์ปรีซ์ ในประเภททีมหญิง
โดยทีมชาติไทย กลับไม่เคยได้เข้าไปแข่งขันเลยแม้แต่ครั้งเดียว
แน่นอนว่า การส่งทีมเข้าไปแข่งขันในเวทีโลก ใช้งบประมาณในการเข้าร่วมค่อนข้างสูง ลำพังเพียงแค่ส่งทีมหญิง ก็หมดเงินไปจำนวนไม่น้อย
ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาหนึ่งของทีมชาย จึงไม่ค่อยที่จะได้มีโอกาสเข้าไปแข่งขันในเวิลด์ ลีกมากนัก
อีกทั้งผลงานในช่วงก่อนปี 2010 ผลงานของวอลเลย์บอลชายทีมชาติไทย ก็ไม่ค่อยจะสู้ดีมากนัก ในซีเกมส์ ก็ได้แชมป์บ้าง รองแชมป์บ้าง บางปีได้อันดับ 3 ก็มี
แต่มองในอีกมุมหนึ่ง แม้การแข่งขันในโซนอาเซียนจะมีการแข่งขันที่เข้มข้น และดุเดือด แต่ส่วนใหญ่พวกเรา ๆ เองก็มีผลงานที่ไม่ค่อยดีในเวทีเอเชียมากนัก
ซึ่งในเกมระดับโลกแทบจะไม่ต้องพูดถึงกันเลย
อินโดนีเซีย, เวียดนาม, พม่า หรือ แม้แต่ ฟิลิปปินส์ น้อยครั้งนักที่พวกเขาเองจะไปเล่นในเกมใหญ่ระดับโลก
มากที่สุดก็เพียงแค่ในแมตช์ชิงแชมป์เอเชีย หรือก็แทบจะส่งแข่งขันแบบครั้งเว้นครั้ง
แต่กระนั้น ส่วนตัวเองก็ยังอยากเห็นทีมหนุ่มไทย ได้ไปโชว์เพลงตบในระดับโลกบ้าง
ความหวังเริ่มมีขึ้น ในการผลัดใบครั้งใหม่ของทีมชาติไทย เมื่อปี 2009 ซีเกมส์ ที่ประเทศลาว และนักกีฬาของไทยหลาย ๆ คนที่นำมาโดย กิตติคุณ ศรีอุทธวงศ์, จิรายุ รักษาแก้ว, วันชัย ทัพวิเศษ เป็นผู้เล่นชุดใหญ่ และนับว่าเป็นอีกชุดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์
แม้ในปี 2009 พวกเขาจะเริ่มต้นด้วยการแพ้ อินโดนีเซีย ในซีเกมส์ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในหลังจากนั้น
ทีมชาติไทย ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ ในเอเชียนเกมส์ 2010 ก่อนจะมากวาดคว้าแชมป์ซีเกมส์ ได้ถึง 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 2011, 2013
ในขณะเดียวกัน ในช่วงปี 2014 FIVB ยังได้จะเพิ่มจำนวนทีมให้มากขึ้น ทั้งใน เวิลด์ ลีก และ เวิลด์กรังด์ปรีซ์ ด้วยการแบ่งออกเป็น 3 ดิวิชั่น แต่กระนั้น โอกาสของทีมชาติไทย ที่จะได้เข้าไปแข่งขันก็แทบจะไม่มีเลย แม้กระทั่งในกลุ่มของทีมดิวิชั่น 3
ปี 2016 สมาคมฯ ส่งทีมชาย ไปเข้าร่วมแข่งขันในรายการชิงแชมป์โลก 2018 รอบคัดเลือกในโซนอาเซียน และแจ้งว่า จะเป็นรายการเริ่มต้น ทีจะผลัดกันทีมชาติไทย เข้าไปสู่การแข่งขันในเวทีโลก
ผลงานของทีมไทยในช่วงครึ่งทศวรรษหลัง นับจากปี 2016 ถือว่าอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน หลังจากที่นักกีฬาตัวหลักเริ่มโรยรามากขึ้น
แต่หนุ่มไทยก็ยังครองแชมป์ซีเกมส์ ได้อีกหนในปี 2017 แต่ก็ยังพลาดตั๋วในการแข่งขันชิงแชมป์โลก รอบสุดท้ายอีกครั้ง
และความหวังของทีมไทยในการไปเวิลด์ ลีก ก็เริ่มขึ้น หลังจากนั้น เมื่อรายการดังกล่าว ปรับรูปแบบการแข่งขัน และเปลี่ยนชื่อมาเป็น เนชันส์ ลีก (VNL) เมื่อปี 2018
เนชันส์ ลีก ปรับเพิ่มทีมมาเป็น 16 ทีม แต่ทีมไทย คงยังไม่ถึงตรงนั้น ทว่าพวกเขายังมีรายการย่อยระดับทวีปให้ทีมเล็ก ๆ ได้มีโอกาสได้ไปแข่งขันก่อน นั่นคือวอลเลย์บอลชาลเลนเจอร์ คัพ ที่จะคัดเอาทีมแชมป์ไปเล่นใน VNL แทนที่ทีมอันดับ 16 ในปีถัดไป
ทว่า ชาลเลนเจอร์ คัพ ในรอบสุดท้าย จะมีทีมที่แข่งขันเพียงแค่ 6 ทีม ซึ่งจะมาจากทีมแชมป์ภาพ 1 ทีม, ทีมจากยุโรป 2 ทีม, อเมริกาเหนือ 1 ทีม, อเมริกาใต้ / เอเชีย 1 ทีม และแอฟริกา 1 ทีม
ซึ่งแต่ละทวีปจะต้องไปคัดเลือกทีมมาก่อนจากโควตาที่กำหนดไว้ คือได้เต็มที่ 1 ทีมเท่านั้น
แต่ด้วยทวีปเอเชีย ดันไปได้โควตาที่สุดซวย แม้จะเป็นแชมป์ของโซนเอเชีย ทว่ายังไม่ได้เข้ารอบสุดท้ายของ ชาลเลนเจอร์ คัพ ทันที ทว่าจะต้องไปเล่นเกมเพลย์ออฟ 1 นัด กับ ทีมแชมป์ของอเมริกาใต้ เสียก่อน
ระหว่างแชมป์เอเชีย และแชมป์อเมริกาใต้ ทีมที่มีอันดับโลกดีกว่า จะได้เล่นในบ้าน ซึ่งจัดแข่งขันกันเพียงแค่ 1 นัด
และการเดินทางไปมาหากัน ระหว่าง เอเชีย กับ อเมริกาใต้ ใกล้กันเสียที่ไหน
ดังนั้นสมาคมฯ จึงงดส่งทีมชาติไทย เข้าแข่งขันในชาลเลนเจอร์ คัพ 2018 ที่ประเทศคาซัคสถาน ด้วยเหตุผลดังกล่าว
ซึ่งในปีนั้น คาซัคสถาน ที่เป็นเจ้าภาพ ชาลเลนเจอร์ คัพ และเป็นแชมป์โซนเอเชีย โดยเอาชนะทั้ง ไต้หวัน และ ปากีสถาน
แต่ คาซัคฯ ก็ดันโชคดี เพราะทีมแอฟริกา ขอถอนตัวจากรายการนี้ ทำให้เกมเพลย์ออฟที่สุดจะคาดคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ คาซัคสถาน และ ชิลี ที่เป็นแชมป์ของอเมริกาใต้ ได้เข้ารอบสุดท้ายของ ชาลเลนเจอร์ คัพ ทันที
ชาลเลนเจอร์ คัพ 2018 รอบสุดท้ายแข่งขันกันที่โปรตุเกส ซึ่งทั้ง คาซัคสถาน และ ชิลี ก็เดินทางไปแข่งขันที่นั่น
กลับกันหากเป็นทีมชาติไทยเราได้ไปแข่งขันแบบนั้นบ้าง คงนึกภาพกันไม่ออกน่าดูว่าจะเป็นอย่างไร
ส่วนในปี 2019 พอแต่ละชาติรู้ว่า การแข่งขันชาลเลนเจอร์ คัพ เป็นเรื่องที่ไกลตัว และได้ไม่คุ้มเสีย แม้จะเป็นแชมป์ของโซนเอเชีย ไหนจะต้องไปเล่นเพลย์ออฟ ที่อาจจะต้องบินไปไกลถึงอเมริกาใต้
หรือหากชนะทีมอเมริกาใต้แล้ว ไหนจะต้องไปเล่นในรอบสุดท้าย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาติในยุโรป และแข่งขันกันไม่กี่เกม
ดังนั้นปี 2019 ทีมจากเอเชีย ไม่มีใครส่งเข้าร่วมแข่งขัน ด้วยเหตุผลข้างต้น แม้ทาง FIVB จะเลือกให้ เกาหลีใต้ ได้สิทธิเป็นโควตาของทีมเอเชียก็ตาม แต่พวกเขาเองก็ปฏิเสธที่จะเดินทางไปแข่งขันกับทีมแชมป์จากอเมริกาใต้
ทำให้ ชิลี แชมป์ของโซนอเมริกาใต้ ได้สิทธิผ่านเข้าไปเล่นในชาลเลนเจอร์ คัพ รอบสุดท้ายที่ประเทศสโลวีเนีย ทันที
ปี 2020 FIVB ได้ประกาศหาทีมเจ้าภาพ ในการแข่งขันชาลเลนเจอร์ คัพ รอบสุดท้าย แต่ทว่าผลงานของทีมชาติไทย กลับพลาดท่าได้เพียงแค่เหรียญทองแดงในซีเกมส์ 2019 เสียอีก
สมาคมฯ จึงตัดสินใจพักโครงการดันทีมชาติไทยสู่ระดับโลกอีกครั้ง ก็คงต้องรอกันต่อไป เมื่อทีมชาติไทย กลับมาผลงานดีในซีเกมส์อีกที
June 27, 2020 at 08:48PM
https://ift.tt/3845sKY
วอลเลย์บอลชาย : มีโอกาสไหมที่ทีมชาติไทยจะได้ไป VNL - บทความวอลเลย์บอล - SMMSPORT
https://ift.tt/2BjZYQ5
Home To Blog
No comments:
Post a Comment